กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 11: สรุปนโยบายสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานคร
อาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

            ในวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ไปร่วมตักบาตรและหาเสียง ณ ตลาดน้ำขวัญเรียม จึงเสนอแนวคิดต่อการพัฒนาตลาดน้ำ รวมทั้งการสรุปประเด็นการดำเนินการเชิงนโยบายหากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น: ตลาดน้ำ
            ดร.โสภณ พรโชคชัย มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบบ้านๆ ในลักษณะตลาดน้ำ รวมทั้งตลาดท้องถิ่น เช่น ตลาดหัวตะเข้ ตลาดหลวงแพ่ง เพื่อร่วมรักษาวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สิ่งที่พึงเข้าใจก็คือการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวก็คือเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นความพึงพอใจ ความสุขสบายใจ ความตื่นเต้นและสิ่งเร้า เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าใช้อารมณ์มากกว่า และมีลักษณะตามฤดูกาล จึงต้องมีการบริหารที่ดี
            กรุงเทพมหานครจึงควรส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากตัวตลาดก็คือการเชิญชวนมาท่องเที่ยวต่อเนื่อง การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การบริการในระหว่างการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพึงส่งเสริมการเที่ยวชม ศาสนสถาน โบราณสถานเก่าแก่ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การพายเรือ โดยเฉพาะการสนับสนุนการจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของพื้นที่ ผู้ค้ารายย่อย บริการสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดส่งสินค้า ฯลฯ โดยเน้นการส่งเสริมสร้างความรู้จักต่อเนื่อง
            การบริหารจัดการพื้นที่เช่น การดูแลค่าเช่าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การให้ข้อเสนอแนะต่อการกำหนดราคาสินค้าและบริการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะเป็นหลักประกันคุณภาพและเป็นการสร้างแบรนด์ ในระยะยาวให้กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบบ้านๆ ที่ต้องอาศัยการจัดการแบบมืออาชีพ ซึ่งองค์กรชาวบ้านเองก็ดำเนินการได้ภายใต้การสนับสนุนของ กทม.

การบริการให้คำปรึกษาปัญหา
            จากกรณีโศกนาฏกรรมของ “ขวัญเรียม” เมื่อเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นประการหนึ่งว่า ความรุนแรงในชีวิตครอบครัว และความรักเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจชีวิตในความเป็นจริง ขาดการได้รับคำปรึกษาจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากความต่างวัย หรือการขาดความรู้ในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง แม้จนในปัจจุบันก็มักพบปัญหาการทำลายชีวิตและทรัพย์สินของทั้งตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ ๆ หลายคนอยากจะเลิกรากับคนที่ตนรักก็อาจถูกฆ่าตายหรือทำร้าย ฯลฯ
            ดร.โสภณ พรโชคชัย จึงขอเสนอให้มีการบริการให้คำปรึกษาเชิงรุกด้วยการตั้งศูนย์สังคมสงเคราะห์เชิงรุก โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาลสาธารณสุข คอยให้คำปรึกษาทั้งมาปรึกษายังศูนย์ และโทรศัพท์สายด่วนปรึกษาปัญหาครอบครัวและความรัก พร้อมกับการช่วยหาทางออกที่เหมาะสม ในกรณีที่จะถูกขู่ทำร้ายหรือทำลายชีวิต ก็จะได้ประสานงานกับตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความคุ้มครองและป้องปรามผู้ที่คิดทำร้าย รวมทั้งการให้คำปรึกษาแก่คู่กรณี ก่อนที่จะกลายสภาพเป็นอาชญากร

นโยบายการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข
            ปัญหาของศูนย์ก็คือ มีกำลังคนมีน้อย ไม่เพียงพอ เครื่องมือแพทย์ค่อนข้างเก่ามาก ยาและการจ่ายยาก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกวันนี้ ศูนย์ฯ จึงเปิดบริการเฉพาะวันจันทร์-พฤหัสในขอบเขตงานที่จำกัดมาก และมีจำนวนลำดับผู้ใช้บริการที่จำกัดมาในแต่ละวัน ส่วนวันศุกร์ก็มักไม่รับคนไข้ และในช่วงบ่ายก็จะหยุดให้บริการโดยปริยาย ข้อเสนอของ ดร.โสภณ พรโชคชัย คือการเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ให้ให้มีเพียงการตั้งศูนย์ฯ อยู่ในทางกายภาพ แต่ควรมีการหน้าที่ที่ดีด้วย การจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์เก่าไปเสีย เร่งรัดขั้นตอนการซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ในสำนักงาน และซื้ออุปกรณ์ใหม่ และมีสำรองไว้เพื่อใช้สอย และหรือเช่า เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน
            สำหรับในระยะยาว ดร.โสภณ เสนอให้พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็น “โรงพยาบาลชุมชน” เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยอาจเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่เกิน 20 เตียง เพื่อขยายโอกาสการรักษาพยาบาลแก่ชาวกรุงเทพมหานคร หรืออย่างน้อยอาจเน้นการรับผู้ป่วยนอก (OPD) เพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึง กทม. ยังควรเสริมบุคลากรเพิ่มเติมในศูนย์ฯ เช่น ตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลภาคสนาม เพื่อการให้บริการในเชิงรุกในพื้นที่ในด้านการสาธารณสุขในมิติต่าง ๆ นอกเหนือจากการรอให้บริการเท่านั้น

นโยบายเมืองชาญฉลาด
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ชูนโยบายการเติบโตของเมืองอย่างชาญฉลาด (เมืองชาญฉลาด หรือ Smart Growth) มากระจายความเจริญในใจกลางกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ชานเมืองที่สิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่เพียงพอ โดยแนวคิดนี้คือการพัฒนาเมืองโดยรวมศูนย์ความเจริญอยู่ภายในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง (Urban Sprawl) และทำให้ศูนย์กลางเมืองในย่านชานเมืองมีความอยู่ตัวในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพิงใจกลางเมือง ไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง
            หลักการ 10 ประการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การสร้างโอกาสที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย การสร้างชุมชนที่เดินถึงกันได้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของท้องที่ การตัดสินใจพัฒนาที่คาดการณ์ได้เป็นธรรมและคุ้มค่า การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย การพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สร้างชุมชนใหม่) และการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่หนาแน่นเกินไป

การใช้สนามหลวง
            สนามหลวงในปัจจุบันให้ใช้ในงานของทางราชการ และผู้เช่าใช้ต้องวางเงินประกันความเสียหายสูงถึง 0.5-1.0 ล้านบาท ทั้งที่แต่เดิมให้ใช้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน และใช้เป็นที่ชุมนุมทางการเมือง จะได้ไม่เกิดการชุมนุมในย่านอื่น นอกจากนี้แม้การเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ปัญหาทางการเมืองมักจะเกิดในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ กทม. ควรมีวิสัยทัศน์ช่วยสร้างความสมานฉันท์ด้วย
            ดร.โสภณ ไม่เห็นด้วยกับประกาศของกรุงเทพมหานครข้างต้น เพราะเท่ากับเป็นการ “ริบ” พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ ไป สนามหลวงตกอยู่ในสภาพที่ “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง” แนวคิดในการสร้างสนามปลูกหญ้าขนาดใหญ่เพียงเพื่อไว้ให้ดูด้วยตาว่าเขียวขจีเป็นเสมือนพรม แต่ไม่ยอมให้ใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนเท่าที่ควร เป็นสิ่งที่พึงทบทวนใหม่เป็นอย่างยิ่ง คนกรุงเทพฯ ในสมัยก่อนขี่จักรยานเป็นก็เพราะมีสนามหลวง
            ที่สำคัญ ควรใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่ไปชุมนุมในที่อื่น เช่น ในทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนราชดำริ หรือบนท้องถนนเช่นพระรูปทรงม้า หรือถนนราชดำเนิน เป็นต้น หากสนามหลวงได้รับการใช้เพื่อการนี้ ก็จะเป็นการจัดระเบียบการชุมนุมที่ดีในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่กีดขวางการจราจร ไม่บุกรุกสถานที่ราชการ สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ

การสร้างความสมานฉันท์ด้วยรายการโทรทัศน์
            ดร.โสภณ พรโชคขัย ยังมุ่งหวังที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยข้อเสนอหนึ่งที่ ดร.โสภณ เสนอก็คือการจัดทำรายการหรือช่องโทรทัศน์เพื่อความสมานฉันท์ โดยใช้ทรัพยากรโทรทัศน์และวิทยุที่มีอยู่แล้ว โดยทุกวันนี้เราดูข่าวหรือรายการการเมืองในสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง จะเห็นความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าวหรือรายการ ประชาชนต้องถูกยัดเยียดให้ดูรายการที่มีลักษณะมอมเมา และขาดความรอบด้าน
            ดร.โสภณ จึงขอเสนอให้มีโทรทัศน์ช่องใหม่ หรือรายการโทรทัศน์ใหม่ ที่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันอย่างแท้จริง กล่าวคือใน 24 ชั่วโมง จะมีการถกเถียงกันในประเด็นต่าง ๆ 6-8 ประเด็น ๆ ละ 3-4 ชั่วโมงไปเลย เอาให้หายอยากไปเลย หรือถ้าจัดไม่ได้ตลอดวัน ก็อย่างน้อยวันละ 1-2 ประเด็น โดยจัดทุกวัน จัดช่วง Prime Time ไปเลย ประเด็นที่ถกเถียงกันก็คือประเด็นร่วมสมัย หรือประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ตาม “สภากาแฟ” ต่าง ๆ เช่น ต่อระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทย ต่อนักการเมือง ต่อการโกงกิน เป็นต้น หรือแม้แต่ต่อเหตุการณ์ร่วมสมัยต่างๆ เป็นต้น
            รายการนี้จะช่วยสร้างชาติอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดภาวะ “สังคมอุดมปัญญา” เพราะได้ฟังอย่างรอบด้านและส่งเสริมให้ประชาชนตัดสินจากข้อมูล ข่าวสาร เหตุผล ไม่ใช่จากความเชื่อหรือการบอกต่อ ๆ กันไปแบบข่าวลือ เป็นต้น รายการนี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นการให้การศึกษาประชาชนที่เป็นกลางและเป็นธรรม

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai