กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 31: นโยบายการเวนคืนที่เป็นธรรมของผม
เสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

          ประเด็นนี้มักไม่มีใครกล้าแตะต้องเพราะกลัวเสียคะแนนทั้งที่ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส ผมมีวิธีการเวนคืนที่เป็นธรรมและทุกฝ่ายได้ประโยชน์
          ในเช้าวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ผมพาคณะนักข่าวไปดูกรณีตัวอย่างการเวนคืนสร้างสะพานเกียกกายบริเวณรอบ ๆ โรงพยาบาลยันฮี ถนนจรัลสนิทวงศ์ และเปิดเผยถึงนโยบายการเวนคืนที่เป็นธรรมของผมหากได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
          เมื่อเอ่ยถึงการเวนคืน ประชาชนคงนึกถึงความโชคร้ายเพราะเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไม่มีใครอยากประสบกับตัวเอง แต่การพัฒนาประเทศก็จำเป็นต้องมีการเวนคืนเพื่อปรับปรุงการใช้ที่ดินใหม่  ในความจริง เราสามารถที่จะจัดการเวนคืนได้อย่าง “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” กับทุกคนได้  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความ “ต่ำ-ช้า” หมายถึงจ่ายค่าทดแทนต่ำเกินจริง และจ่ายช้ามาก
          หลักสำคัญของการเวนคืนก็คือ ทางราชการต้องจ่ายค่าทดแทนไม่ต่ำกว่าราคาตลาด การบังคับเอาที่ดินไปจากประชาชนผู้ครอบครองโดยจ่ายค่าทดแทนต่ำ ถือเป็นการละเมิด (สิทธิมนุษยชน) และสร้างความไม่ เท่าเทียมกันในสังคม อันจะก่อให้เกิดปัญหาตั้งแต่การดื้อแพ่ง การประท้วง ความไม่สงบในบ้านเมือง โครงการที่พึงดำเนินไปหลังจากการเวนคืนก็กลับล่าช้าและเสียหาย
          ในบางกรณีทางราชการยังอาจต้องจ่ายค่าทดแทนสูงกว่าราคาตลาดของทรัพย์สิน เพราะความสูญเสียของผู้ถูกเวนคืนมีมูลค่ามากกว่านั้น เช่น ทรัพย์สินเป็นสถานที่ประกอบกิจการเปิดร้านค้าหรือบริษัท เมื่อถูกเวน-คืนก็ต้องเปลี่ยนหัวจดหมายใหม่ หรือเกิดความยุ่งยากในการขนส่งสินค้า หาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ความเสียหายเหล่านี้ควรได้รับการชดเชยเช่นกัน
          ในโครงการเวนคืนในกรุงเทพมหานคร กลับปรากฏว่า เจ้าของที่ดินถึงร้อยละ 90 ไม่เห็นด้วยกับราคาค่าทดแทนที่ได้ประเมินไว้ นี่แสดงว่าเจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งอาจได้ราคาค่าทดแทนที่ต่ำเกินจริง แต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะไม่เข้าใจการประเมินค่าทรัพย์สินหรือการเวนคืนดีพอจึงไม่ยอมรับราคาค่าทดแทนที่ประเมินได้ แม้อาจเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วก็ตาม
          อีกสิ่งหนึ่งที่ผมในฐานะผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขอเสนอก็คือ การจัดที่ดินให้ประชาชนที่ไม่ต้องการรับเงินทดแทนสามารถอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเดิม โดยสร้างเป็นห้องชุดความสูง 3-8 ชั้นตามความเหมาะสม ซึ่งแม้ไม่ใช่แนวราบเช่นเดิม แต่ก็ไม่ต้องโยกย้ายไปไกล โดยการนี้หากกรณีที่ กทม. เป็นผู้เวนคืน ผมจะสร้างที่อยู่อาศัยให้เสร็จก่อนเพื่อการโยกย้ายที่ไม่กระทบวิถีขีวิตของประชาชน
          การที่ทางราชการไม่ริเริ่มสร้างสรรค์งานเวนคืนที่เป็นธรรม หรือการที่ระบบกฎหมายของเราเปลี่ยนแปลงช้า ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนเสียหาย รวมทั้งการที่นักวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินไม่ได้รับการควบคุมเพื่อผู้บริโภค ก็อาจเป็นเพราะระบอบการเมืองที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คงสถานะของที่ผู้ได้เปรียบในสังคม เจ้าที่ดินรายใหญ่ จึงจะได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องเพราะไม่อยากถูกเวนคืน
          ตามกฎหมายเวนคืนปัจจุบัน เราจะเอาที่ดินที่ถูกเวนคืนไปทำประโยชน์ในทางธุรกิจไม่ได้ โดยนัยนี้คงเป็นเพราะกลัวว่าจะเป็นการเอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์ แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน ต่างสามารถเวนคืนที่ดินเอกชนมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การมีระบบตรวจสอบที่ดี เพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นสำคัญ
          โดยสรุปแล้ว การจ่ายค่าทดแทนให้เป็นธรรม การจ่ายส่วนล้ำจากการสูญเสียอื่น รวมทั้งการจัดหาที่อยู่อาศัยทดแทนให้ในบริเวณใกล้เคียงในกรณีที่ไม่ต้องการรับค่าทดแทนแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น จะเป็นแนวทางการเวนคืนที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai