กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 32: นโยบายจักรยานที่ทำได้จริง
อาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

          ในงาน “ปลุก ปั่น เปลี่ยน การสัญจรเพื่อเมืองน่าอยู่” วันนี้ ผมเป็นหนึ่งในผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้ขอมาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย แต่ไม่ได้ ผมเข้าใจครับเพราะไม่ใช่ตัวเก็ง จึงขออนุญาตเขียนแสดงความเห็นไว้ ณ ที่นี้

          จริงๆ แล้วผมแถลงนโยบายผู้ว่าฯ เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมจักรยานที่แท้จริง” โดยเป็นแถลงฉบับที่ 2 ของผมตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคมแล้ว ผมเห็นว่าการแปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานทำได้ทันที คุ้มค่า ดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯ หลักสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมให้เป็นวิถีชีวิตของคนที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง ไม่ใช่สิ่งแปลกแยก (Alienated)
          การส่งเสริมการใช้จักรยานทำได้จริงโดยเริ่มที่ใจกลางเมืองก่อน เพียงการทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลายเพื่อการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้
          หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท
          ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ 17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน
          หากพิจารณาถึงผลดีที่ได้ด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก และแนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย
          โดยสรุปแล้ว เราต้องรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ใช้รถจักรยานเช่าเสียก่อน ถ้าคนจำนวนมากขี่จักรยาน เลนจักรยานก็ไม่ต้องมี แต่ระยะแรกต้องมีอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก ระวังอุบัติเหตุ
          กรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา (แต่ต้องปรับเรื่องท่อและความเรียบ) บางคนนึกอิจฉาที่ชาวตะวันตกใส่สูทขี่จักรยานไปทำงานเพราะเมืองไทยร้อน แต่ในหน้าหนาวพวกเขาก็ทำเท่ไม่ได้ ถ้าเราจะขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เราก็ควรต้องมีชุดที่ปกคลุมร่างกายให้ดี แล้วค่อยไปเปลี่ยนชุดที่ทำงาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง (ที่แท้) เช่นชาวตะวันตก คนเมืองควรทำเมืองให้สะอาดปลอดมลพิษด้วยสองมือของเรา
          ในฐานะที่ธรรมศาสตร์เป็นผู้จัดหลักในงานนี้ ผมก็เป็นสมาชิกประชาคมธรรมศาสตร์ จบธรรมศาสตร์เมื่อปี 2522 สมัยเรียนก็ยังเป็นผู้นำนักศึกษา เป็นผู้เรียกร้องและร่วมร่างข้อบังคับให้มี อมธ.กลับคืนมา (หลัง 6 ตุลา) ขณะนี้ก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษทั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะบัญชี คณะสถาปัตย์ รวมทั้งเป็นประธานจัดงานดนตรีเพลงปฏิวัติเพื่อหาเงินสร้างกำแพงประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยครับ

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai