กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 4: การสร้างทางด่วนราชดำริ และการปรับปรุงการจราจรทางน้ำ
อังคารที่ 29 มกราคม 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกับรัฐบาลก่อสร้างทางด่วนเชื่อมทางด่วนขั้นที่ 2 ที่อุรุพงษ์และกับทางด่วนขั้นที่ 1 ที่มักกะสัน ระบายการจราจรที่ราชดำริและประตูน้ำ ซึ่งถือว่าวิกฤติสุด และยังเสนอแผนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม รวมทั้งการประกันภัยแก่ผู้ใช้บริการเรือด่วน
            ในช่วงเช้าวันอังคารที่ 29 มกราคม 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 4 ได้ไปหาเสียงบริเวณสี่แยกประตูน้ำ ถนนราชดำริตัดกับถนนเพชรบุรี และได้เสนอการสร้างทางด่วนลอดใต้คลองแสนแสบโผล่ราชดำริ การพัฒนาเครือข่ายเรือด่วน และยังพาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมสะพานลอยประตูน้ำ ซึ่งเป็นสะพานลอยแห่งแรกของประเทศไทย
            ต่อกรณีการสร้างทางด่วนเพื่อกระจายการจราจรตามแนวคลองแสนแสบสมควรที่จะดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจราจรในเขตใจกลางเมืองติดขัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำริ ต้นทุนการสูญเสียน้ำมันและเวลาของประชาชนส่วนใหญ่ ย่อมมีความสำคัญต่อประเทศชาติโดยรวม อย่างไรก็ตามการเวนคืน ควรจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และให้ความเคารพต่อศาสนสถานและความเป็นชุมชนมุสลิมดั้งเดิมที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่สมัยตั้งกรุงเทพมหานคร
            ดร.โสภณ พรโชคชัย จึงขอเสนอแนวทางการเวนคืนด้วยการเวนคืนที่ดินในบริเวณใกล้เคียงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นแบบห้องชุดแนวราบที่ออกแบบให้คล้ายบ้านเดี่ยวยกระดับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการย้ายประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้มานาน ทำให้วิถีชีวิตไม่ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายบ้านหรือชุมชนบางส่วนออกไป นอกจากนั้น ชุมชนในพื้นที่เดิมบางส่วนยังเป็นชุมชนแออัด ซึ่งหากสามารถสร้างใหม่ให้มีความสูงเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนผู้ถูกเวนคืนได้รับผลกระทบน้อยและได้ประโยชน์จากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในการอยู่อาศัย ย่อมทำให้ประชาชนยินยอมรับการเวนคืน
            นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจพิจารณาสร้างทางด่วนใต้ดินในช่วงบริเวณดังกล่าว โดยสร้างอยู่ใต้คลองแสนแสบอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้อาจสร้างทางด่วนใต้ดิน 2 ชั้น เป็นช่องขาไปและขากลับ และบางส่วนอาจล้ำเข้ามาในแดนกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินในเขตชุมชนแออัด ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมบ้าง และสมควรจ่ายค่าทดแทนตามสมควร แต่คาดว่าคงเป็นเงินไม่มากนักสำหรับการลงทุน เนื่องจากที่ดินในชุมชนแออัดย่อมมีศักยภาพในการพัฒนาในทางอื่นต่ำ มูลค่าจึงไม่สูงเช่นเดียวกับที่ดินใจกลางเมืองผืนอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
            นอกจากนี้เพื่อเป็นตัวอย่างของความเสมอภาคระหว่างประชาชนทั่วไป กับอาคารขนาดใหญ่ รัฐบาลพึงเวนคืนอาคารขนาดใหญ่พิเศษใดๆ ที่ก่อสร้างขวางแนวสร้างทางเชื่อมทางด่วนดังกล่าวนี้ ถึงแม้อาคารเหล่านี้จะได้รับอนุญาตและก่อสร้างไปแล้ว แต่ในปัจจุบันกลับกีดขวางการเชื่อมทางด่วนขั้นที่หนึ่งและทางด่วนขั้นที่สอง ก็สมควรได้รับการเวนคืนและรื้อย้ายเช่นกัน
            สิ่งที่รัฐบาลและกรุงเทพมหานครควรดำเนินการร่วมกันก็คือการก่อสร้างทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างทางด่วนขั้นที่ 1 ตรงมักกะสัน กับทางด่วนขั้นที่ 2 ตรงอุรุพงษ์ เพื่อการจราจรในกลางเมืองบริเวณราชประสงค์ ประตูน้ำ และราชปรารภ ซึ่งถือเป็นจุดวิกฤติแห่งหนึ่งที่สุดในประเทศไทย
            อนึ่งในขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตลอดแนวคลองแสนแสบในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นการต่ออายุพระราชกฤษฎีกาเดิมโดยมีแนวเวนคืนอาจกว้างเพียง 100 เมตร ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสับสนเรื่องการเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน ดังนั้นในอนาคต ควรที่หน่วยราชการที่รับผิดชอบการเวนคืน กำหนดเขตการเวนคืนจริงให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น ผู้อยู่ในเขตเวนคืนที่กว้างเกินความเป็นจริงอาจตกใจ และที่สำคัญ ทำให้ไม่สามารถขายทรัพย์สินได้เนื่องจากผู้ซื้ออาจไม่กล้าซื้อด้วยเกรงจะถูกเวนคืนนั่นเอง
            สำหรับกรณีสะพานลอยแห่งแรกในประเทศไทย คือสะพานลอยประตูน้ำ ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนราชดำริและถนนเพชรบุรีนั้น ซึ่งก่อสร้างเสร็จในประมาณปี พ.ศ.2512 ทั้งนี้ไม่นับรวมสะพานกษัตริย์ศึกที่สร้างข้ามทางรถไฟ การวางแผนพัฒนาเมืองในยุคแรก ๆ โดยเฉพาะการวางผังเมือง ปี พ.ศ.2500 นั้นกำหนดให้พื้นชานเมือง ณ ปี พ.ศ.2530 แต่ในความเป็นจริงเมืองขยายตัวออกสู่แนวราบไปไกลกว่านั้นแล้วในปีดังกล่าว ทำให้ประชาชนต้องเสียต้นทุนในการเดินทางมากมายและทางด่วนต้องก่อสร้างออกไปไม่สิ้นสุด
            การจราจรโดยอาศัยเรือด่วนนับเป็นทางเลือกหนึ่งในสถานการณ์ที่ไม่มีโอกาสอื่นในการพัฒนา แต่ในอนาคต กรุงเทพมหานครสมควรนำคลองนี้มาใช้เพื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้า และเดินเรือต่อไป โดยทางรถไฟฟ้าเส้นผ่านฟ้า - ราชเทวี – คลองตัน – รามคำแหง จะเป็นเส้นทางที่น่าจะมีผู้ใช้บริการมากที่สุดเส้นหนึ่งไม่แพ้เส้นสุขุมวิท เพราะมีประชาชนอาศัยอยู่ตามเส้นทางนี้เป็นจำนวนมากไม่แพ้กัน โดยเชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ไปทางบางบัวทองเสียอีก
            สำหรับประเด็นการสัญจรทางน้ำที่น่าสนใจเพิ่มเติมก็คือ
            1. การประกันภัยกับผู้ได้รับความเสียหาย เช่น ตกน้ำ บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการใช้บริการเรือด่วน
            2. การมีหน่วยตรวจสอบการให้บริการอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
            3. การปรับปรุงสภาพเรือ และตลิ่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้อยู่อาศัยริมคลองในระหว่างการเดินเรือ
            4. การขยายเส้นทางเดินเรืออื่น ๆ เช่น คลองลาดพร้าว คลองสอง เป็นต้น
            การวางแผนพัฒนาเมืองที่ดีจะทำให้การอยู่อาศัยของประชาชนมีความสงบสุข ในรุ่นที่ผ่านมาประชาชนเมืองต้องย้ายออกไปถึงบางกะปิ มีนบุรี  ในอนาคตอาจต้องย้ายออกไปไกลถึงหนองจอก ฉะเชิงเทรา เพราะการขาดการวางแผนพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งเป็นการกีดขวางความเจริญและสร้างความเจ็บปวดแก่ประชาชน


ภาพที่ 1: ข้อเสนอสร้างทางด่วนระบายการจราจรราชประสงค์และเชื่อมทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ที่มักกะสันและอุรุพงษ์

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai