กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 6: ประเด็นนโยบาย กทม. ที่พึงทบทวน
พฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

          ดร.โสภณ# 4 วิพากษ์แนวคิดด้านนโยบายการพัฒนากรุงเทพมหานครที่มีผู้สมัครนำขึ้นเสนอ แต่ไม่หวังโจมตีใคร เพียงป้องกันการเข้าใจผิดสำหรับประชาชน โดยมีประเด็นดังนี้:
          การเพิ่มพื้นที่สีเขียว  ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไปเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตรอบนอก ซึ่งไม่มีความจำเป็นมากนัก เพราะในเขตชานเมืองก็มีลักษณะเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว และในหมู่บ้านจัดสรรก็จัดพื้นที่สีเขียวอยู่พอสมควร แต่ที่ไปทำในเขตชานเมืองเพราะหาที่ดินได้ง่าย ประเด็นสำคัญของพื้นที่สีเขียวก็คือในใจกลางเมืองมีความขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งสร้างความตึงเครียดแก่ประชากรที่อาศัยและทำงานอยู่ใจกลางเมืองนับล้านๆ คน เป็นอย่างยิ่ง  ปกติ กทม. ก็จะขอ เช่า หรือซื้อที่ดินเพื่อการทำสวนสาธารณะตามแผนปกติอยู่แล้ว
          ดร.โสภณ พรโชคชัย เสนอแนวทางการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมด้วยการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยในเขตใจกลางเมืองได้อนุญาตให้ก่อสร้างประมาณ 5-10 เท่าของขนาดที่ดิน เช่น ที่ดินแปลงหนึ่งขนาด 1,000 ตารางวา หรือ 4,000 ตารางเมตร ก็สร้างได้ประมาณ 20,000 – 40,000 ตารางเมตร แต่หาก กทม. ออกระเบียบให้สามารถสร้างได้มากกว่านั้น เช่น 15 เท่า แต่ให้เว้นพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อประชาชนได้ใช้ร่วมกัน ก็จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองได้อีกมหาศาล นอกจากนี้ในหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ ที่มักมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 10-15% ของที่ดิน ก็อาจได้รับการส่งเสริมหรืองดเว้นภาษีหากเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 25-40% เป็นต้น  ข้อเสนอนี้จึงเป็นยุทธศาสตร์นโยบายที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์และทำได้จริง
          การจัดแผงตลาดโบ๊เบ๊ สิ่งที่พึงเข้าใจเกี่ยวกับตลาดโบ๊เบ๊ลึก ๆ แล้วก็คือชาวตลาดไม่ต้องการให้ทางราชการเข้ามาจัดระเบียบใหม่ เพราะอาจกระทบการค้า สำหรับคนภายนอกอาจมองเห็นความรกรุงรัง ดุสภาพคล้ายไม่เป็นระเบียบ แต่ลักษณะเช่นนี้คือธรรมชาติของตลาดโบ๊เบ๊  ข้อเสนอของบางท่านที่จะเพิ่มพื้นที่ขายให้กับตลาดด้วยการใช้พื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะคลองนี้เป็นคลองขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร จะทำให้คลองตื้นเขินได้ด้วย
          ในสมัยที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย เรียนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2517 ก็มีการรื้อถอนเรือที่จอดระเกะระกะในคลองผดุงกรุงเกษมและคลองมหานาคมาครั้งหนึ่งแล้ว ข้อเสนอที่ ดร.โสภณ นำเสนอก็คือ การปิดถนนกรุงเกษม ช่วงตั้งแต่สะพานกษัตริย์ศึก (ยศเส) ถึงถนนดำรงรักษ์ระยะทาง 600 เมตร เพื่อเปิดให้ค้าขายในยามค่ำคืนตั้งแต่เวลา 20:00 – 05:00 น.  แล้วจัดระเบียบแผงที่มาขายของของกลุ่มแม่ค้าในช่วงตลาดเช้าและตลาดกลางวันเสียใหม่
          การเปิดสวนสาธารณะ 24 ชั่วโมง กรณีนี้อาจเป็นไปไม่ได้เพราะต้นไม้ใบหญ้าในสวนควรได้พักในยามค่ำคืนบ้าง และทำการบำรุงรักษาสวนสาธารณะในเวลาค่ำคืน หากเปิดไฟสว่างไสวก็จะเป็นการสิ้นเปลือง สัตว์โดยเฉพาะนก กระรอก ฯลฯ ในสวนสาธารณะไม่ได้พักผ่อนเช่นกัน ปกติกลางคืนต้นไม้จะคายคาร์บอนไดออกไซต์ ไม่เหมาะที่คนจะอยู่ใต้ต้นไม้  ที่สำคัญคงมีคนจำนวนน้อยมากที่คิดจะใช้สวนสาธารณะในเวลา 21:00 – 04:00 ของวันใหม่
          จากประสบการณ์ดูงานนครนิวยอร์ก ลอนดอน และมหานครขนาดใหญ่ทั่วโลกของ ดร.โสภณ พรโชคชัย สวนสาธารณะชั้นนำทั่วโลกก็ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง  แม้แต่กรณีสนามกอล์ฟในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ของอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ ก็เปิดใช้ถึง 20:00 – 21:00 น. เป็นสำคัญ
          ปัญหาเทศกิจกับแม่ค้า มีการนำเสนอนโยบายให้ “เจ้าหน้าที่เทศกิจ เลิกจับพ่อค้า แม่ค้าที่ขายของบนทางเดินเท้าที่ผิดกฎหมาย โดยจะมีการจัดระเบียบพ่อค้า แม่ค้าให้ถูกต้อง”  กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะอาจกระทบฐานเสียงคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็เป็นปัญหาตำตาที่สร้างความหนักใจให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างยิ่ง
          การไม่จัดการการกระทำผิดกฎหมายคงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในการบริหารรัฐกิจ การยึดแต่หลักรัฐศาสตร์โดยขาดการนำพาต่อหลักนิติศาสตร์ ก็จะทำให้เกิด “ลัทธิเอาอย่าง” และกลายเป็นข้ออ้างในการกระทำผิดกฎหมายจนเกิดสภาพทางเท้ามีไว้ขายของ ชาวบ้านต้องเดินลงไปบนถนน กีดขวางการจราจร และยิ่งผ่อนผันมากก็ยิ่งมีการรุกล้ำนำทางเท้าบนถนนสายต่าง ๆ มาค้าขายเพิ่มขึ้น
          สิ่งที่ควรดำเนินการในเบื้องต้นก็คือการจัดระเบียบและช่วงเวลาการขายสินค้าใหม่ ที่สำคัญ เงินค่าเช่าที่มีราคาสูงถึงประมาณ 100-200 บาทต่อตารางเมตรหรือต่อแผงนั้น ควรลดราคาลง เพื่อช่วยให้ผู้ค้าสามารถลดราคาสินค้าให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็นำเงินมาดูแลพื้นที่ รักษาความสะอาดและนำมาพัฒนาท้องถิ่นต่อไปโดยไม่ให้รั่วไหลเข้ากระเป๋าหรือส่งส่วยใคร และในระยะยาว ควรจัดพื้นที่ค้าขายให้ถูกสุขลักษณะ และสร้างนิสัยการซื้อขายสินค้าที่ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงความสะดวกเฉพาะตัว แต่คำนึงถึงส่วนรวม
          ผม ดร.โสภณ พรโชคชัย ขอย้ำว่าการนำเสนอข้อคิดข้างต้นนี้ ไม่ได้หวังโจมตีใคร แต่หวังใจไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงมานำเสนอ ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครเดินไร้ทิศผิดทางต่อไป

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai