กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 9: แนวทางการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.
ศุกรที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

            ประชาชนในกรุงเทพมหานครแทบจะไม่รู้จักศูนย์สาธารณสุข ของกรุงเทพมหานครเท่าที่ควร ยกเว้นในเขตชานเมืองบางส่วน กทม. ควรพัฒนาศูนย์ฯ เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และอาจจะยกระดับเป็นในรูปแบบ “โรงพยาบาลชุมชน” ได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร หมายเลขที่ 4 ได้เดินทางไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข 55 บนถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครในวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ปรากฏว่าประตูศูนย์บริการสาธารณสุขปิด ดร.โสภณ ไม่ได้มีโอกาสเข้า ได้แต่อยู่หน้าศูนย์ฯ ดังกล่าว ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับกรณีที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ประสบมาแล้ว แต่ต่างกันตรงที่เป็นเพราะศูนย์ปิดในช่วงบ่ายของทุกวันศุกร์ ไม่ได้เพราะการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง
            ในฐานะที่ ดร.โสภณ มีความรู้เกี่ยวกับการสาธารณสุขที่ให้บริการโดย กทม. ดร.โสภณ จึงขอนำเสนอแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพและบุคลากรศูนย์ฯ เพื่อประโยชน์ต่อชาวกรุงเทพมหานครต่อไป ทั้งนี้ปัญหาของศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่ควรแก้ไขมีดังนี้
            1. เรื่องกำลังคน กำลังคนมีน้อยเกินไป เช่น บางศูนย์ฯ ก็มีเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 3-5 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่  ตำแหน่งของข้าราชการในศูนย์ฯ เมื่อเกษียณไปแล้ว อาจไม่มีการบรรจุเจ้าหน้าที่มาทดแทน หรือมีมาแต่ช้า ทำให้บริการได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในแต่ละศูนย์ แทบไม่มีคนครบตามอัตรากำลังในผัง  การขาดกำลังคนจึงทำให้แต่ละคนต้องทำงานหลายหน้าที่ ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ
            2. เครื่องมือแพทย์ค่อนข้างเก่า ถึงเก่ามาก อายุเกิน 10 ปี อยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่ได้มีการซ่อมแซม หรือซื้อใหม่ หากนำไปซ่อมแซม ก็ไม่มีเครื่องใหม่มาเปลี่ยนเพื่อใช้งาน ทำให้การบริการในช่วงนำเครื่องมือแพทย์ไปซ่อมนั้นขาดช่วง เป็นผลเสียต่อการสาธารณสุขของชาวกรุงเทพมหานคร
            3. ยาและการจ่ายยาก็ไม่เพียงพอ บางครั้งก็ต้องให้ไปเบิกยาที่ศูนย์ฯ ขนาดใหญ่ ซึ่งยังความไม่สะดวกแก่ผู้มารับบริการ
            4. นโยบายและแผนการสาธารณสุข ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น ขาดการวางนโยบายการสาธารณสุขเชิงรุก กลายเป็นการตั้งรับ
            5.  การประสานแผนและการดำเนินการตามแผนอาจมีปัญหาบางประการ เช่น การนัดประชุมเป็นระยะๆ อาจทำให้ขาดช่วงในการทำงาน บริการประชาชนไม่ได้เต็มที่
            6. งบประมาณด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร มีจำกัดเมื่อเทียบกับสำนักอื่น จึงทำให้การบริการสาธารณสุข ไม่ทั่วถึง
            ดังนั้นทุกวันนี้ ศูนย์ฯ จึงเปิดบริการเฉพาะวันจันทร์-พฤหัสในขอบเขตงานที่จำกัดมาก และมีจำนวนลำดับผู้ใช้บริการที่จำกัดมาในแต่ละวัน  ส่วนวันศุกร์ก็มักไม่รับคนไข้ และในช่วงบ่ายก็จะหยุดให้บริการโดยปริยาย เพราะเจ้าหน้าที่อาจต้องไปประชุม เป็นต้น
            ข้อเสนอของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร หมายเลขที่ 4 จึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์สาธารณสุขในเบื้องต้นดังนี้
            1. จัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนาการสาธารณสุขของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครให้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความผาสุกแก่ประชาชน
            2. การเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ให้ให้มีเพียงการตั้งศูนย์ฯ อยู่ในทางกายภาพ แต่ควรมีการหน้าที่ที่ดีด้วย
            3. จำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์เก่าไปเสีย
            4. เร่งรัดขั้นตอนการซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ในสำนักงาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            5. ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ และมีสำรองไว้เพื่อใช้สอย และหรือเช่า เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน
            สำหรับในระยะยาว ดร.โสภณ เสนอให้พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็น “โรงพยาบาลชุมชน” เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยอาจเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่เกิน 20 เตียง เพื่อขยายโอกาสการรักษาพยาบาลแก่ชาวกรุงเทพมหานคร หรืออย่างน้อยอาจเน้นการรับผู้ป่วยนอก (OPD) เพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึง ทุกวันนี้ชาวบ้านที่ป่วยมักเดินทางไปหาคลินิกที่เปิด 24 ชั่วโมงมากกว่าจะนึกถึงศูนย์ฯ
            นอกจากนี้ กทม. ควรเสริมบุคลากรเพิ่มเติมในศูนย์ฯ เช่น ตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลภาคสนาม เพื่อการให้บริการในเชิงรุกในพื้นที่ในด้านการสาธารณสุขในมิติต่าง ๆ นอกเหนือจากการรอให้บริการเท่านั้น





ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai